วันศุกร์ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

ศาสดาเอกของโลก (๑)

ศาสดาเอกของโลก  (๑)

               พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ผู้บริสุทธิ์หลุดพ้นแล้วจากกิเลสอาสวะ กิจที่จะทำยิ่งกว่านี้ของพระองค์ไม่มีอีกแล้ว พวกเราควรดำเนินชีวิตตามแบบอย่างพระพุทธองค์ โดยมุ่งทำความบริสุทธิ์ กาย วาจา ใจ เป็นอันดับแรก ส่วนเรื่องอื่นให้เป็นเรื่องรองลงมา เรามีกิจที่ต้องทำให้รู้แจ้งว่า เราเกิดมาจากไหน มาทำไม อะไรคือเป้าหมายของชีวิต  เพราะฉะนั้น เราควรต้องหมั่นฝึกฝนอบรมจิตใจให้หยุดให้นิ่ง จนกระทั่งเข้าถึงผู้รู้แจ้งภายใน คือพระธรรมกาย
        มีวาระพระบาลี กล่าวไว้ในอังคุตตรนิกาย เอกนิบาตว่า
        “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้เลิศเมื่ออุบัติขึ้นในโลก ย่อมอุบัติขึ้นเพื่อประโยชน์แก่มหาชนเป็นอันมาก เพื่อความอนุเคราะห์แก่ชาวโลก เพื่อประโยชน์สุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย  บุคคลผู้เลิศคือใคร คือ  พระตถาคตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นพระอรหันต์ตรัสรู้เองโดยชอบ”
        ช่วงนี้ใกล้ถึงวาระสำคัญอันเป็นมหามงคลสำหรับเหล่าพุทธศาสนิกชนอีกครั้งหนึ่ง นั่นคือ วันวิสาขบูชา ซึ่งเป็นวันคล้ายวันประสูติ ตรัสรู้และปรินิพพานของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นบรมศาสดาของพวกเรา ถือเป็นเรื่องมหัศจรรย์ ที่พระพุทธองค์มีวันประสูติ วันตรัสรู้และวันปรินิพพานมาตรงกัน คือตรงกับวันขึ้น ๑๕ คํ่า เดือน ๖ เพราะฉะนั้นวันวิสาขบูชาจึงเป็นวันที่เราควรมาตรึกระลึก นึกถึงพระคุณอันยิ่งใหญ่ของพระพุทธองค์
        ในฐานะที่เราเป็นชาวพุทธ จำเป็นจะต้องรู้จักประวัติของพระองค์ท่านให้แจ่มแจ้ง และซาบซึ้งในพระคุณของพระพุทธองค์ เราจะได้เกิดปีติและภาคภูมิใจว่า ตัวเราได้มาอยู่ในร่มเงาบารมีธรรม และยังได้อาศัยหลักธรรมคำสอนของพระพุทธองค์มาประพฤติปฏิบัติจนกระทั่งเข้าถึงความสุขที่แท้จริง ทำให้ชีวิตมีแต่ความสำเร็จและสมหวังในทุกสิ่ง
       ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เราควรมาระลึกนึกถึงพระพุทธเจ้าให้เป็นพุทธานุสติ ระลึกนึกถึงพระพุทธองค์ในขณะที่ใจหยุดนิ่ง เราจะได้รู้สึกซาบซึ้งในพระคุณอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ยิ่งขึ้นไปอีก ด้วยการทำตัวของเราประหนึ่งเป็นจุดศูนย์กลางของสรรพสิ่งทั้งมวล ให้ทำใจนิ่งๆ ไว้ตลอดเวลา
           ประวัติของพระพุทธองค์เป็นประวัติที่ยิ่งใหญ่ และการบังเกิดขึ้นของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแต่ละพระองค์นั้น บังเกิดได้ยากยิ่ง บางยุคบางสมัยก็ไม่มีพระพุทธเจ้ามาอุบัติเลย โลกว่างเว้นจากพระสัทธรรม หมู่สัตว์ตกอยู่ในความมืดมิด คือ อวิชชาที่หาทางออกไม่พบ การอุบัติขึ้นของพระองค์นั้น เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้กับมวลมนุษยชาติ ประวัติของท่านชัดเจนแจ่มแจ้ง มีที่มาที่ไปตั้งแต่เริ่มสร้างบารมีนับภพนับชาติไม่ถ้วน สร้างความดีมาโดยตลอด ตั้งแต่สมัยที่ท่านแบกมารดาอยู่บนบ่าขณะว่ายน้ำอยู่กลางทะเล เนื่องจากเรือสำเภาแตกเพราะพายุในครั้งนั้น
        ขณะกำลังแบกมารดาอยู่กลางทะเล ท่านเกิดมหากรุณาขึ้นในใจ เกิดความปรารถนาอันยิ่งใหญ่ คือ ปรารถนาที่จะเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ช่วยเหลือสรรพสัตว์ให้หลุดพ้นจากทุกข์ในสังสารวัฏ เพราะท่านมองเห็นว่า ตราบใดที่ยังเวียนว่ายตายเกิดอยู่ ก็ต้องตรอมตรมในทะเลทุกข์  
        เมื่อคิดดังนั้น ท่านเริ่มสั่งสมบุญบารมี เพื่อให้ได้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ แม้ความปรารถนานั้นจะพบอุปสรรคมากมายเพียงใด ท่านก็ไม่ย่อท้อ  แม้อวกาศโล่งๆ เต็มไปด้วยกองไฟลุกโชน แล้วให้ท่านก้าวเดินไปสู่อีกฝั่งหนึ่ง ที่ทำให้ท่านบรรลุเป้าหมาย ท่านก็จะไป จะฝ่าเปลวเพลิงไปโดยไม่กลัว  ไม่หวาดหวั่นต่อความยากลำบาก
          พระองค์กลับมีมโนปณิธานอย่างแรงกล้า ตั้งแต่ว่ายน้ำดำผุดดำว่ายอยู่ในมหาสมุทรโดย ไม่ได้คำนึงถึงอุปสรรคใดๆ คิดถึงแต่เป้าหมาย และมุ่งจะทำความปรารถนานั้นให้สำเร็จให้ได้
        ท่านได้สร้างบารมีเช่นนั้นมายาวนานนับภพนับชาติไม่ถ้วน จนกระทั่งเกิดอุปมาว่า ท่านได้สละเลือดเนื้อและชีวิต เฉพาะที่เป็นเลือดก็มากกว่าน้ำในท้องทะเลมหาสมุทร สละเนื้อเป็นทานมากกว่าแผ่นดินบนพื้นชมพูทวีป ที่ควักลูกนัยน์ตาก็มากกว่าดวงดาวบนท้องฟ้า และที่ตัดศีรษะบูชาธรรม มากยิ่งกว่าผลมะพร้าวในชมพูทวีป
         หลายท่านได้อ่านพุทธประวัติหรือประวัติการสร้างบารมีของพระพุทธองค์กันมาบ้างแล้ว ไม่ว่าจะเป็นลักษณะที่เป็นชาดกในคัมภีร์ต่างๆ หรือในหนังสือพระเจ้าสิบชาติบ้าง ห้าร้อยชาติบ้าง นั่นเป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งของประวัติอันยาวนานของพระพุทธองค์เท่านั้น อันที่จริง พระพุทธองค์สร้างบารมีมานานถึง ๒๐ อสงไขย แสนมหากัป โดย ๘ อสงไขยแรก เพียงคิดอยากเป็นพระพุทธเจ้าเท่านั้น  ยังไม่กล้าบอกใคร  เมื่อความคิดดี ติดแน่นอยู่ที่ศูนย์กลางกายมากเข้า   ก็เปล่งวาจาบอกคนรอบข้าง  เมื่อพบพระพุทธเจ้าพระองค์ใด ท่านจะเข้าไปกราบนมัสการ ทำบุญกุศลกับพระองค์นั้น       แล้วกราบทูลความปรารถนาดีของท่านว่า อยากจะเป็นพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคตบ้าง พระพุทธเจ้าก็ได้ชื่นชมอนุโมทนา ทรงอวยพรให้ท่านสมหวังดังใจปรารถนาเรื่อยมา
        ท่านได้พบพระพุทธเจ้ามามากมายหลายพระองค์ แต่ยังไม่ได้รับคำยืนยันหรือคำพยากรณ์ใดๆ อย่างไรก็ตามท่านก็สร้างบารมีอย่างไม่ย่อท้อ  ครั้นครบ ๑๖ อสงไขย  ในสมัยที่ท่านเป็นสุเมธดาบส ท่านยังได้นอนทอดร่างเป็นสะพาน เพื่อให้พระทีปังกรพุทธเจ้า และเหล่าพระอรหันตขีณาสพเดินข้ามโคลนตมไป ท่านจึงได้รับคำพยากรณ์จากพระทีปังกรพุทธเจ้าพระองค์แรกว่า อีก ๔ อสงไขยแสนมหากัป สุเมธดาบสจะได้เป็นพระพุทธเจ้าพระนามว่า  สมณโคดม  ญาณทัสสนะของพระพุทธเจ้านี้ทรงแจ่มแจ้งทีเดียว
        ท่านเห็นยิ่งกว่ามองด้วยตาเนื้อ บอกได้ทันทีว่าจะเป็นเจ้าชายพระนามว่า สิทธัตถะ มีพระราชบิดาชื่อสุทโธทนะ พระมารดาชื่อสิริมหามายา เกิดที่ไหน อย่างไร ทรงเห็นแจ้งทะลุปรุโปร่งหมด เพราะพระพุทธองค์เห็นด้วยธรรมจักษุ เห็นด้วยตาธรรมกายที่แจ่มใสชัดเจน เห็นทั้งอดีต ปัจจุบันและอนาคต
        เมื่อได้รับพุทธพยากรณ์แล้ว ตั้งแต่นั้นมา ท่านจึงได้ชื่อว่าเป็นนิยตโพธิสัตว์ ผู้พร้อมจะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างแน่นอน แม้จะได้รับคำพยากรณ์แล้ว แต่ท่านมิได้หลงระเริงยินดีเพียงแค่นั้น มีแต่จะทำความให้ทับทวียิ่งขึ้นไปอีก ฉะนั้น การบังเกิดขึ้นแต่ละภพแต่ละชาติของท่าน จึงเป็นไปเพื่อสันติสุขอันไพบูลย์ของมวลมนุษยชาติเท่านั้น ถ้าบังเกิดเป็นมนุษย์ก็เป็นมหาเศรษฐีผู้ใจบุญ เป็นพระราชาพระเจ้าจักรพรรดิก็ปกครองแผ่นดินโดยธรรม มนุษย์ยุคสมัยนั้นจะรักษาศีล ๕ ตามท่านไปด้วย ข้าวปลาอาหารบังเกิดขึ้นด้วยอานุภาพของพระเจ้าจักรพรรดิ และด้วยบุญที่มหาชนได้ตั้งใจรักษาศีล บ้านเมืองจึงสงบร่มเย็นเป็นสุข ไม่ต้องทำมาหากินให้ลำบาก โลกแห่งสันติภาพได้เกิดขึ้นในยุคของพระองค์
        ท่านมุ่งแสวงหาทางพ้นทุกข์อย่างเดียว แม้เป็นลูกเศรษฐี ก็ไม่ได้ยินดีในสมบัติ ท่านเป็นผู้ที่สอนตนเองได้  เมื่อออกบวชก็ตั้งใจทำภาวนาแนะนำมหาชนให้ไปสู่สุคติโลกสวรรค์กันมากมาย ใจท่านคิดอย่างเดียวว่า ทำอย่างไรจึงจะหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ และช่วยเหลือสรรพสัตว์ให้หลุดพ้นจากทุกข์ในสังสารวัฏได้ พระองค์สร้างบารมีมาทุกรูปแบบ ทรงเป็นแบบอย่างของยอดนักสร้างบารมีที่พวกเราควรศึกษา ควรรำลึกนึกถึงบ่อยๆ แล้วดำเนินตามปฏิปทาของพระพุทธองค์ จะทำให้เรามีกำลังใจในการสร้างบารมียิ่งๆ ขึ้นไป เพราะฉะนั้น ให้เราหมั่นนั่งสมาธิ เจริญพุทธานุสติมีพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ ใจของเราจะได้ใสบริสุทธิ์ และเข้าถึงธรรมตามพระพุทธองค์ไปด้วย


จากหนังสือธรรมะเพื่อประชาชน
ฉบับศาสดาเอกของโลก หน้า ๑๑-๑๘

อ้างอิง.......พุทธประวัติ เล่ม ๑ (หลักสูตรนักธรรมตรี)

วันอังคารที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2563

ศึกชิงภพ

ศึกชิงภพ
 

                                 มนุษย์ส่วนใหญ่ยังให้ความสำคัญกับกายมนุษย์นี้เพียงผิวเผิน แม้จะเอาใจใส่กับร่างกายด้วยการหมั่นดูแลทำความสะอาดหรือปกป้องไม่ให้เจ็บไข้ได้ป่วย แต่หารู้ไม่ว่า นั่นยังไม่ใช่วิธีที่ถูกต้องสมบูรณ์ในการรักษาปกป้องกายมนุษย์นี้ เพราะยังไม่สะอาดบริสุทธิ์อย่างแท้จริง แต่หากได้ทำความสะอาดใจด้วยการรักษาศีลและเจริญภาวนา จึงจะเข้าถึงแก่นแท้ของกายของตัวเองอย่างแท้จริง สังขารร่างกายที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันนี้ ความเป็นจริงแล้ว ยังมีอีกหลายกายซ้อนกันอยู่ภายใน และเป็นกายที่สวยสดงดงามยิ่งกว่า เป็นชีวิตในระดับลึกที่มีความละเอียดประณีตดีกว่ากายภายนอกมาก เราจะรู้ได้ก็ต่อเมื่อทำสมาธิภาวนา หมั่นทำใจให้บริสุทธิ์หยุดนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ซึ่งเป็นต้นแหล่งแห่งความสุขและความบริสุทธิ์อย่างแท้จริง

มีวาระพระบาลีที่ปรากฏใน เทวทูตสูตร ว่า....

                 "สัตว์ที่เกิดมาย่อมมีภัยโดยความตายเป็นนิตย์ เหมือนผลไม้ที่สุกแล้วย่อมมีภัยโดยการหล่นไปในเวลาเช้าฉะนั้น ภาชนะดินที่นายช่างทำแล้วทุกชนิดมีความแตกสลายไปในที่สุด ชีวิตมนุษย์ทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่ ทั้งโง่เขลา ทั้งเฉลียวฉลาด ย่อมไปสู่อำนาจแห่งมฤตยู มีมัจจุราชสกัดอยู่ข้างหน้า เมื่อมนุษย์เหล่านั้น ถูกมัจจุราชสกัดอยู่ข้างหน้าแล้ว ถูกมัจจุครอบงำแล้ว บิดาก็ต้านทานไว้ไม่ได้ หรือพวกญาติก็ต้านทานไม่ได้ มนุษย์ทั้งหลายย่อมรำพันกันอยู่เป็นอันมากนั่นเอง"

                มัจจุ คือ ความตาย หากมาปรากฏต่อหน้าของเราก่อนจะละโลกนี้เพื่อเดินทางไปสู่ปรโลก เมื่อถึงยามนั้นไม่มีใครเลยที่จะมาช่วยเหลือเราได้ เราต้องช่วยตัวเอง ธรรมะและบุญกุศลที่เราได้ทำเอาไว้จะเป็นที่พึ่งแก่เราในยามนั้น ความตายที่เกิดขึ้นกับคนส่วนใหญ่มีอยู่ ๒ สาเหตุด้วยกัน คือ ตายปัจจุบันทันด่วน เป็นการตายก่อนถึงเวลาสมควร เช่น อุบัติเหตุ รถชนตาย จมน้ำตาย ตายอย่างที่สอง เป็นการตายตามปกติ เช่น เจ็บป่วยตาย สุดท้ายเมื่อกายหยาบนี้แตกดับทนอยู่ไม่ได้ กายมนุษย์ละเอียดก็ต้องถอดออกไป ไปถือกำเนิดในกายใหม่ จะเป็นกายทิพย์หรือกายของสัตว์นรกก็แล้วแต่บุญทำกรรมแต่ง แล้วแต่ใจของเราในตอนนั้นว่าเศร้าหมองหรือผ่องใส

                  เมื่อตายไปแล้วจะไปที่ไหน ความตายเป็นอย่างไร ความตายก็คือความขาดแห่งชีวิตินทรีย์ ขณะที่เรายังมีชีวิตอยู่นี้ มีบุญคอยหล่อเลี้ยงรูปกายเราให้สดใสไปมาเคลื่อนไหวได้ เมื่อใดหมดบุญขาดชีวิตินทรีย์ เราก็เคลื่อนไหวไปมาไม่ได้ หมดความรู้สึก มีกายแข็งทื่อเหมือนท่อนไม้ ถ้าจะเปรียบก็เหมือนไฟตะเกียง อาศัยน้ำมันชุบที่ไส้จึงมีแสงสว่าง ถ้าน้ำมันหมดไฟก็ดับลง รูปกายของเรานี้เหมือนกับตะเกียง ชีวิตินทรีย์เหมือนน้ำมัน

                   เพราะฉะนั้น เมื่อหมดบุญ ชีวิตินทรีย์ขาดก็สิ้นลมหายใจ ครั้นหมดลมวิญญาณก็ดับ ตาก็ไม่เห็น หูก็ไม่ได้ยิน จมูกก็ไม่ได้กลิ่น ลิ้นก็ไม่รู้รส กายก็หมดความรู้สึกเหมือนท่อนฟืนที่รอการเคลื่อนเข้าเตาไฟ ไม่หวั่นไหวต่อความเย็นร้อนอ่อนแข็ง ถ้าทิ้งไว้ก็มีแต่จะเน่าเหม็นพุพอง น่าเกลียด น่าชัง คนที่เคยคลั่งไคล้หลงใหลกันมาก่อน ก็ไม่อยากเข้าใกล้ ถึงขั้นนี้แล้วก็ไม่น่าทะนุถนอม จำต้องเอาไปเผาในป่าช้า

                   มีตัวอย่างเกี่ยวกับชีวิตของผู้ที่ละจากโลกนี้ไปแล้ว เนื่องจากจิตใจเศร้าหมองไม่ผ่องใส จึงพลัดตกลงไปในยมโลก ต้องให้พญายมราชทำการไต่สวน เหมือนสัตว์นรกทั่วๆ ไปตายแล้ว ต้องผ่านการพิจารณาคดีความจากพญายมราชเสียก่อนว่าจะไปเสวยทุกข์ในมหานรกหรือในอุสสทนรก ตัวอย่างที่จะนำมาเล่านี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการชิงช่วงและช่วงชิง เป็นศึกชิงภพงบดุลชีวิตว่า จะไปสุขหรือทุกข์ ก็อยู่ที่ว่า จะนึกถึงบุญหรือบาป หมองหรือใส ก่อนจะละโลก เคล็ดลับก็อยู่ที่หมองกับใสนี่แหละ

                  มีเรื่องเล่าว่า มีหนุ่มชาวทมิฬคนหนึ่ง ชื่อ ทีฆชยันตะ เกิดในสมัยหลังพุทธกาล เป็นคนที่หยาบกระด้าง ประพฤติผิดศีล ๕ อยู่เป็นประจำ เพราะคบคนไม่ดีเป็นมิตร เนื่องจากกรรมในอดีตตามมาทัน ในระหว่างที่ไปเที่ยวเล่นกับเพื่อนเกิดการทะเลาะวิวาทกับเพื่อนจึงถูกฆ่าตาย เนื่องจากตายเพราะขาดสติ จิตใจเศร้าหมอง จึงถูกยมทูตนำลงไปยมโลกให้พญายมราชช่วยตัดสินว่า จะให้ไปเสวยวิบากกรรมที่ทำเอาไว้ในนรกขุมไหนหรือที่ไหนจึงเหมาะสม

              พญายมราชเมตตาให้โอกาสตอบคำถามเกี่ยวกับเทวทูตทั้ง ๕ แต่เนื่องจากหนุ่มทมิฬนี้เป็นคนใจโหดเหี้ยม ฆ่าสัตว์เป็นอาจิณ จึงไม่เคยนึกถึงโทษของการเกิด แก่ เจ็บ ตายเลย หรือแม้เห็นใครถูกฆ่าก็รู้สึกเฉยๆ เพราะตัวเองก็ชอบฆ่าสัตว์เป็นปกติ ภาพที่ปรากฏเป็นนิมิตอยู่ต่อหน้า จึงเป็นภาพของการเข่นฆ่ามนุษย์และสัตว์ จิตใจก็เศร้าหมองไม่ผ่องใส พญายมราชให้นึกถึงบุญอะไรก็นึกไม่ออก เพราะฉะนั้นจึงถูกพิพากษาให้ไปเสวยทุกข์ในอุสสทนรก

                ในขณะที่กำลังถูกทัณฑ์ทรมานในอุสสทนรกนั้น สัตว์นรกตัวนี้พลันนึกถึงภาพที่ตัวเองสมัยที่เป็นเด็กวัยรุ่น พ่อแม่ได้ใช้ให้นำผ้าแดงบูชาอากาศเจดีย์ ซึ่งเป็นเจดีย์ระฟ้าที่สุมนคิริมหาวิหาร จำได้ว่าตอนที่เอาผ้าไปบูชาพระเจดีย์นั้น ตัวเองมีจิตเลื่อมใสในพระรัตนตรัยมากถึงขนาดปีติขนลุกชูชันทีเดียว เนื่องจากไฟในอุสสทนรกที่แผดเผาอยู่ตลอดเวลา ทำให้จำบุญกุศลอย่างอื่นไม่ได้เลย แต่เมื่อได้เห็นเปลวไฟที่ลุกวูบวาบไปมา จึงหวนระลึกถึงผ้าแดงผืนที่พัดโบกนั้นได้ เพียงแค่จิตเป็นกุศลนิดเดียวเท่านั้นเอง บุญก็สว่างวาบ ฉุดเอาสัตว์นรกนี้ขึ้นจากขุมนรก แล้วไปบังเกิดเป็นอากาสเทวาทันที

                ส่วนอีกท่านหนึ่ง เคยถวายผ้าสาฎกเนื้อเกลี้ยงแด่พระลูกชาย แต่ตอนตายเนื่องจากใจเศร้าหมอง และทำบาปเอาไว้มากเหมือนกัน เมื่อผ่านการไต่สวนพิจารณาคดีจากท่านพญายมราชแล้ว ต้องไปเสวยทุกข์อยู่ในอุสสทนรกเป็นเวลานาน แต่ในช่วงที่ว่างจากการถูกทรมานแวบหนึ่งนั้น ได้พิจารณาเห็นเปลวไฟใหญ่ไหวไปไหวมา เสียงดังพรึบพรับ ก็พลันนึกถึงผ้าสาฎกโบกสะบัดที่ตัวเองมอบถวายให้กับพระลูกชาย

                   ด้วยจิตที่เป็นกุศล การชิงช่วงระหว่างหมองกับใสก็เกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง  แต่คราวนี้สุกกธรรมคือธรรมฝ่ายขาวทำงานเต็มที่ กัณหธรรมไม่สามารถมาครอบงำจิตใจที่ผ่องใสนั้นได้ ทำให้สัตว์นรกท่านนี้พ้นจากทัณฑ์ทรมาน เลื่อนขึ้นจากอัตภาพของสัตว์นรก ได้กายใหม่ที่ผ่องใสกว่าเดิม เมื่อฝ่ายบุญทำงานเต็มที่ บุญที่เกิดจากการถวายผ้าสาฏกนั้น ก็ส่งผลให้ไปบังเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ นับเป็นมหัศจรรย์แห่งบุญ ที่ต้องถือว่าหนึ่งในล้านทีเดียว  ที่เมื่อตกลงไปในนรกแล้ว จะสามารถหลุดพ้นจากอบายภูมิขึ้นมาได้ ส่วนใหญ่มีแต่ต้องเสวยวิบากกรรมไปจนกว่ากรรมนั้นจะสิ้นสุดลง

                   นอกจากนี้ ยังมีอีกท่านหนึ่ง ในอดีตเคยเป็นอำมาตย์ แต่ไม่ตั้งอยู่ในธรรม ชอบฉ้อราษฎร์บังหลวง พิจารณาคดีด้วยความลำเอียงเป็นประจำ แต่ด้วยบุญที่เคยเอาดอกมะลิ ๑ หม้อ ไปบูชาพระมหาเจดีย์ แล้วได้แบ่งส่วนบุญให้แก่พญายมราช เมื่อตายไปแล้วได้ถูกควบคุมตัวไปพิจารณาโทษในยมโลก แม้พญายมจะเตือนให้นึกถึงบุญก็นึกไม่ออก เพราะบาปมันบังตาเอาไว้ พญายมจึงตรวจดูเอง แล้วเตือนให้ได้สติว่า “ยังจำได้ไหม ท่านเคยบูชามหาเจดีย์ด้วยดอกมะลิ ๑ หม้อ แล้วยังอุทิศส่วนกุศลให้กับเรา” อำมาตย์ท่านนี้จำกุศลกรรมของตัวเองได้ จึงมีใจเลื่อมใส พอจิตเลื่อมใสเท่านั้นแหละ ก็ได้ไปบังเกิดในเทวโลก

                  เราจะเห็นว่า การชิงช่วงระหว่างใจหมองกับใจใสมีอยู่ตลอดเวลา และสำคัญมากด้วย พระพุทธองค์ทรงสอนว่า ใจเป็นใหญ่ ใจเป็นประธาน  ทุกอย่างสำเร็จด้วยใจ เพราะฉะนั้น เราต้องฝึกทำใจให้ใสๆ อย่าให้หมอง และอย่าให้อกุศลมาครอบงำจิตใจของเราได้ การจะทำเช่นนี้ได้ต้องหมั่นสั่งสมบุญอยู่เป็นนิตย์ ชำระกาย วาจา ใจให้บริสุทธิ์ และเมื่อทำบุญอะไรไว้แล้ว ก็ให้หมั่นตรึกระลึกนึกถึงเรื่อยๆ ให้ใจอยู่ในบุญ อย่าไปนึกถึงบาป ที่สำคัญต้องปฏิบัติธรรมให้เข้าถึงพระธรรมกายภายในให้ได้ จะได้เป็นเครื่องยืนยันว่า เราจะได้ไปสู่สุคติโลกสวรรค์ ซึ่งเป็นที่พักระหว่างการเดินทางไกลในสังสารวัฏ เพื่อไปให้ถึงที่สุดแห่งธรรมอย่างแน่นอน




จากหนังสือธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับสารธรรม ๒ หน้า ๔๑๒-๔๒๐


อ้างอิง.......พระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏฯ (ภาษาไทย)
ล่มที่ ๓๔   หน้า ๑๕๙

วันจันทร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2563

ทำให้ถูกหน้าที่

ทำให้ถูกหน้าที่


                   ความบริสุทธิ์เป็นสิ่งที่มนุษย์ต่างมุ่งแสวงหา เป้าหมายของการเกิดมาของสรรพสัตว์ทั้งหลาย คือ เกิดมาเพื่อสร้างบารมี เพื่อทำความบริสุทธิ์ให้เข้าสู่ภาวะความหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวง หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ การศึกษาวิชชาในทางพระพุทธศาสนานั้น จึงเป็นเรื่องของการพัฒนาชีวิตให้มีความสุข และให้บริสุทธิ์จนหมดกิเลสไปสู่อายตนนิพพาน เป็นสิ่งที่มนุษย์ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติ ศาสนา หรือเผ่าพันธุ์ใดก็ตาม ควรเปิดใจกว้างเข้ามาศึกษาหาความรู้นี้ โดยวางความเชื่อดั้งเดิมไว้ชั่วคราว แล้วพิสูจน์ให้รู้เห็นด้วยตนเองเช่นนี้ จึงจะเกิดประโยชน์สูงสุด เป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและชาวโลกด้วย

        พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน พันธนโมกขชาดก ความว่า..........

                  คนพาลทั้งหลายผู้ไม่ถูกผูกมัด กล่าวขึ้นในที่ใด ย่อมถูกผูกมัดในที่นั้น ส่วนบัณฑิต แม้ถูกผูกมัดแล้ว กล่าวขึ้นในที่ใด ก็หลุดพ้นได้ในที่นั้น”

                   บัณฑิตผู้มีปัญญา เมื่อถึงคราวคับขันย่อมสามารถเอาตัวรอดได้ เมื่อถูกผูกมัด ก็จะมีถ้อยคำที่คมคาย มีปฏิภาณไหวพริบ สามารถหลุดพ้นจากสถานการณ์นั้นได้ เหตุที่บัณฑิตมีความเฉลียวฉลาดเช่นนี้ เพราะว่ามีใจผ่องใสเป็นปกติ ใจที่ใสสว่างเป็นบ่อเกิดแห่งปัญญาอันบริสุทธิ์ ที่จะหลุดพ้นจากปัญหาและอุปสรรคทั้งปวง แรกเริ่มเดิมทีจิตมนุษย์เป็นจิตที่บริสุทธิ์ผ่องใส แต่ถูกกิเลสหุ้มเคลือบ เอิบอาบ ซึมซาบ ปนเป็น จึงทำให้ความบริสุทธิ์ค่อยๆ ลดลงไป ความไม่บริสุทธิ์กลับมีเพิ่มมากขึ้น

                   ตราบใดที่เรายังไม่รู้หนทางแห่งความบริสุทธิ์ และวิธีการปฏิบัติเพื่อให้เข้าถึงความบริสุทธิ์ จิตดวงนี้จะเสื่อมประสิทธิภาพ ทำให้ความคิด คำพูด และการกระทำผิดเพี้ยนไปจากเดิม เกิดพลั้งเผลอไปทำบาปอกุศลโดยรู้ไม่เท่าทันกิเลส กรรมชั่วที่ทำลงไปนั้น ย่อมส่งผลให้ได้รับความทุกข์ทรมาน เป็นวิบากกรรมที่กลับมาสนองตนเอง จนกว่าจะดำเนินตามเส้นทางที่ถูกต้องดีงาม บาปกรรมจึงทุเลาเบาบางลงได้

                   ดังเช่นเรื่องในอดีต มีปุโรหิตของพระเจ้าพรหมทัต ที่อยู่ในกรุงพาราณสี เป็นคนตาเหลือง มีเขี้ยวงอกยาว นางพราหมณีผู้เป็นภรรยาของปุโรหิต เป็นชู้กับพราหมณ์อีกคนหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับเขา เมื่อปุโรหิตรู้ก็ห้ามปรามภรรยา แต่ไม่อาจห้ามปรามได้ จึงคิดหาอุบายฆ่าชายชู้นี้ โดยไปเข้าเฝ้าพระราชา กราบทูลให้รื้อประตูเมืองทางด้านทิศใต้ แล้วทำประตูใหม่ด้วยไม้ที่เป็นมงคล พระราชาก็ทรงอนุญาต 

                 เมื่อทำประตูใหม่แล้ว จึงกราบทูลพระราชาว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นสมมติเทพ พรุ่งนี้เป็นวันมงคลฤกษ์ ต้องทำพลีกรรมยกพระทวารไม่ให้ล่วงฤกษ์นี้ไปได้ จำเป็นต้องฆ่าพราหมณ์ผู้บริสุทธิ์ ที่มีนัยน์ตาเหลืองมีเขี้ยวงอก เอาเนื้อและเลือดของเขามาทำพลีกรรม แล้วใส่อ่างฝังลงไปใต้พระทวาร เมื่อทำเช่นนี้ ความสุขสวัสดีก็จะบังเกิดมีแก่พระองค์และชาวพระนคร พระเจ้าข้า”

                  พระราชาทรงเชื่อตามที่ปุโรหิตกราบทูล และทรงอนุญาตตามนั้น ปุโรหิตดีใจมาก ที่อุบายชั่วร้ายของตนกำลังจะสำเร็จ จึงรีบกลับไปบ้าน แต่ด้วยความที่รักษาความลับไว้ไม่ได้ จึงเผลอปากบอกภรรยาว่า “ตั้งแต่นี้ไป เจ้าจะเชยชมกับใครเล่า เพราะพรุ่งนี้ชายชู้ของเจ้าจะถูกทำพลีกรรมแล้ว” ภรรยาเถียงว่า “เขาไม่มีความผิด จะฆ่าเขาทำไม” ปุโรหิตบอกว่า “พระราชารับสั่งให้ทำพลีกรรมต่อพราหมณ์ที่มีตาเหลืองและมีเขี้ยวงอก ชู้ของเจ้ามีตาเหลืองและมีเขี้ยวงอกไม่ใช่หรือ”

                   ภรรยาฟังดังนั้นจึงรีบส่งข่าวไปให้ชายชู้รู้ตัว ข่าวนี้ได้กระจายไปทั่วเมือง พวกพราหมณ์ทุกคนที่มีเขี้ยวและตาเหลือง รีบพากันหลบหนีออกจากเมืองในคืนนั้นหมด ปุโรหิตไม่รู้ว่าคนอื่นหนีไปหมดแล้ว จึงเข้าไปกราบทูลพระราชาแต่เช้าตรู่ เพื่อให้พระราชาส่งพวกราชบุรุษไปจับพราหมณ์ที่มีลักษณะดังกล่าว พวกราชบุรุษไปหาแล้ว ก็กลับมากราบทูลว่า “ทั่วทั้งเมืองไม่มีพราหมณ์ลักษณะตามที่ต้องการ มีแต่ท่านปุโรหิตเท่านั้น คนอื่นๆ ไม่มีลักษณะเช่นนี้เลย” 

                 พระราชาจึงรับสั่งว่า “เราไม่อาจฆ่าปุโรหิตได้” พวกอำมาตย์จึงกราบทูลว่า “ข้าแต่องค์ผู้สมมติเทพ เพราะท่านปุโรหิตเป็นคนกำหนดฤกษ์ยาม ถ้าไม่ทำในวันนี้ อัปมงคลอาจเกิดขึ้นแก่พระองค์ได้ หากบ้านเมืองไม่มีประตู ข้าศึกก็จะได้โอกาสมาโจมตี  ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องฆ่าปุโรหิตนี้”

                   ในสมัยนั้น พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นอุปปุโรหิตชื่อตักการิยะ ซึ่งท่านเองก็เป็นลูกศิษย์ของปุโรหิต พระโพธิสัตว์จึงไปที่ประตูเมืองพร้อมด้วยราชบุรุษ สั่งให้ขุดหลุมในที่จะตั้งพระทวาร และให้ขึงม่านล้อมรอบอ่าง ตัวท่านได้เข้าไปอยู่ในม่านกับปุโรหิต ปุโรหิตมองดูหลุมแล้วได้แต่ทอดถอนใจ เพราะรู้ว่าความตายใกล้เข้ามาแล้ว จึงรำพึงว่า “เราเป็นผู้ยัดเยียดความฉิบหายให้ผู้อื่น แต่ผลสุดท้ายกลับตกมาสู่เราเอง” พระโพธิสัตว์ฟังดังนั้น จึงบอกว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น แม้ในอดีตก็เคยเกิดมาแล้ว จากนั้นท่านได้เล่าเรื่องในอดีตว่า...

                   มีหญิงงามเมืองคนหนึ่งชื่อกาลี น้องชายชื่อตุณฑิละ ทุกๆ วันนางกาลีจะหาเงินได้วันละ ๑,๐๐๐ กษาปณ์ ส่วนน้องชายเป็นคนชอบเล่นการพนัน ดื่มน้ำเมา เที่ยวผู้หญิง ไม่ว่าพี่สาวให้ทรัพย์เท่าไร เขาก็เอาไปใช้จนหมด ถึงนางจะห้ามปรามอย่างไรก็ไม่ฟัง วันหนึ่งน้องชายแพ้พนันจนหมดตัว ต้องจำนำผ้านุ่ง แล้วเอาเสื่อลำแพนมานุ่งแทน นางโกรธมากจึงสั่งพวกสาวใช้ว่า เมื่อตุณฑิละมาถึง ให้ช่วยกันขับไล่เขาออกจากบ้านทันที

                 วันนั้น ลูกชายเศรษฐีคนหนึ่ง กำลังจะนำทรัพย์มาให้นางกาลี ๑,๐๐๐ กษาปณ์ ผ่านมาพบนายตุณฑิละเข้า หลังจากรู้เรื่องราวทั้งหมดแล้วก็รับปากว่าจะช่วยขอร้องพี่สาวให้ แต่เมื่อไปขอร้องนางกาลีแล้ว กลับได้รับคำปฏิเสธเพราะต้องการดัดนิสัยน้องชาย

                 ในสมัยนั้น มีธรรมเนียมอยู่ว่า เงิน ๑,๐๐๐ กษาปณ์ที่หญิงงามเมืองได้นั้น ครึ่งหนึ่งเป็นของนาง ส่วนอีกครึ่งหนึ่งเป็นค่าของหอม ดอกไม้ อุปกรณ์สำหรับต้อนรับ และเป็นค่าเสื้อผ้าให้แขกใช้ผลัดเปลี่ยนขณะอยู่ในเรือนของนาง ลูกชายเศรษฐีอยากช่วยตุณฑิละจึงนุ่งผ้าผืนนั้น แล้วเอาผ้าของตนเองให้ตุณฑิละ

                 เมื่อตุณฑิละได้นุ่งผ้าใหม่แล้ว ก็รู้สึกทะนงตนขึ้นมาอีก ครั้นกลับเข้าบ้านจึงส่งเสียงตวาดคุกคามคนในบ้าน เมื่อนางกาลีรู้เรื่องก็ไม่พอใจลูกชายเศรษฐี ได้สั่งสาวใช้ว่า ต่อไปเวลาลูกเศรษฐีจะกลับไป ให้ช่วยกันแย่งผ้าแล้วเก็บเอาไว้ ลูกเศรษฐีจะได้ช่วยน้องชายของนางไม่ได้ เมื่อลูกชายเศรษฐีมาอีก แล้วจะกลับบ้านในเวลารุ่งเช้า พวกสาวใช้ก็กรูกันเข้าไปรุมถอดเสื้อผ้าของลูกเศรษฐี ทำให้เขาอับอาย ต้องเปลือยกายเดินกลับบ้าน เขารำพึงรำพันกับตนเองว่า เราไปยุ่งเรื่องของคนอื่นแท้ๆ จึงต้องมาเป็นเสียเอง

                  เมื่อเล่าจบพระโพธิสัตว์สรุปว่า เรื่องนี้ก็ทำนองเดียวกับเรื่องของอาจารย์นั่นแหละ ท่านอาจารย์มีหน้าที่สนองเบื้องยุคลบาท ปกครองบ้านเมืองให้มีสันติธรรม กลับใช้ตำแหน่งมาทำผิดหน้าที่ เอาตำแหน่งไปเบียดเบียนผู้อื่น ทำให้ทุกข์นั้นกลับมาถึงตนเอง” แล้วจึงปลอบใจว่า “ท่านอาจารย์อย่ากลัวเลย รีบหนีไปเถอะ ปลอมตัวอย่าให้ใครรู้” จากนั้นพระโพธิสัตว์ได้ไปเอาแพะตาย มาทำพลีกรรมแทน ทำให้อาจารย์รอดชีวิตไปได้

                   เราจะเห็นว่า การทำผิดหน้าที่ ทำในสิ่งที่ไม่ใช่หน้าที่ของตัว ย่อมต้องเดือดร้อนเช่นนี้ คำว่า "หน้าที่นั้น" ในความหมายที่เข้าใจง่ายๆ หมายถึงสิ่งที่ตนรับผิดชอบ ที่ต้องทำด้วยความสุขุมรอบคอบ มีความคิด คำพูด และการกระทำอยู่บนพื้นฐานของความถูกต้องดีงาม มนุษย์และเทวดาก็ติเตียนไม่ได้ ซึ่งหน้าที่หลักของมวลมนุษยชาติที่แท้จริง คือการสั่งสมบุญบารมี

                   ดังนั้น ให้หมั่นสั่งสมบุญบารมีกันให้มากๆ ทำเช่นนี้จึงจะทำถูกหน้าที่ เพราะเราเกิดมาเพื่อสั่งสมบุญบารมีไปสู่อายตนนิพพาน ไม่ว่าเป็นบุญเล็กบุญน้อยก็อย่ามองข้าม ให้มีส่วนร่วมในบุญทั้งหมด โดยเฉพาะเรื่องการปฏิบัติธรรมทำใจหยุดใจนิ่งเป็นสิ่งที่ต้องทำ เมื่อเราทำแล้วจะทำให้สมปรารถนาในชีวิต 



จากหนังสือธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับสารธรรม ๒ หน้า ๑๑๐-๑๑๘


อ้างอิง.......พระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏฯ (ภาษาไทย)
ล่มที่ ๖๐   หน้า ๓๐๐


วันอาทิตย์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2563

ผู้จรรโลงพระพุทธศาสนา

ผู้จรรโลงพระพุทธศาสนา


             ในห้วงวัฏสงสารอันยาวไกล ทุกชีวิตต่างแสวงหาที่พึ่ง บ้างแสวงหาปัจจัยสี่เพื่อนำมาใช้ในการดำรงชีวิต บ้างแสวงหาอำนาจ ชื่อเสียง เกียรติยศ แต่น้อยคนที่จะรู้ว่าสิ่งที่ควรแสวงหานั้น คือพระรัตนตรัยซึ่งเป็นที่พึ่งอันเกษมของทุกชีวิต เป็นสภาวธรรมอันละเอียดที่มนุษย์ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ด้วยการทำใจหยุด ทำใจนิ่ง ณ ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ถ้าทำอย่างถูกต้อง เบาสบายและต่อเนื่อง ในที่สุดเราย่อมจะค้นพบวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของชีวิต โดยไม่ต้องไปแสวงหาสิ่งใดอีก เพราะไม่มีการแสวงหาใดๆ ในโลกที่จะสำคัญยิ่งไปกว่าการแสวงหาพระรัตนตรัย ซึ่งเป็นที่พึ่งที่ระลึกอันสูงสุดของสรรพสัตว์ทั้งหลาย

พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ใน ธนสูตร ความว่า...

    “ ผู้ใดมีความเชื่อในพระตถาคต ตั้งมั่นไม่หวั่นไหว มีศีลอันงาม อันพระอริยะชอบใจ สรรเสริญ มีความเลื่อมใสในพระสงฆ์ และมีความเห็นตรง บัณฑิตทั้งหลายกล่าวผู้นั้นว่า ไม่เป็นคนขัดสน ชีวิตของบุคคลนั้นไม่เปล่าประโยชน์”

               ความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นทางนำไปสู่สวรรค์และนิพพาน สิ่งนี้จะบังเกิดขึ้นได้ในใจ ต่อเมื่อเรามองเห็นพระคุณอันยิ่งใหญ่ของท่าน ตระหนักและซาบซึ้งว่า พระพุทธองค์ทรงเป็นประทีปธรรมของโลก เป็นบรมศาสดาที่จะนำแสงธรรมไปจุดในกลางใจของสรรพสัตว์ ทรงขจัดความมืดมิด คืออวิชชา ด้วยแสงแห่งพระสัทธรรมที่เกิดจากการตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ และตระหนักในคุณของพระธรรมว่าเป็นไญยธรรมที่นำสัตว์ออกจากทุกข์ สามารถขจัดทุกข์ของผู้นำที่ไปประพฤติปฏิบัติได้จริง อีกทั้งตระหนักถึงพระคุณอันยิ่งใหญ่ของพระสงฆ์ผู้ประพฤติดีปฏิบัติตรง เป็นเนื้อนาบุญอันเลิศไม่มีนาบุญใดยิ่งกว่า


              พุทธศาสนิกชนในสมัยก่อนนั้น มีความศรัทธาเลื่อมใสในพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาก แม้พระพุทธองค์จะเสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้วก็ตาม แต่ความเลื่อมใสในพระองค์ก็ไม่เคยคลอนแคลน สังเกตจากอามิสบูชา และปฏิบัติบูชาที่เห็นปรากฏเป็นรูปธรรม ตั้งแต่พระราชามหากษัตริย์ ถึงพ่อค้ามหาเศรษฐีทั้งหลาย ต่างออกบวชและได้บรรลุธรรมกันมากมายนับไม่ถ้วน


             อามิสบูชานั้นแสดงออกให้ชาวโลกได้ประจักษ์กันทั่วทุกมุมโลก ไม่ว่าจะเป็นการแกะสลักพระพุทธรูปขนาดใหญ่ ตามภูเขา หรือหน้าผา หรือในถ้ำก็มี บางที่ก็สร้างเจดีย์ สร้างพุทธสถานอย่างเช่นบรมพุทโธในประเทศอินโดนีเซีย พุทธสถานเหล่านี้บ่งบอกถึงความศรัทธาเลื่อมใสของชาวพุทธในอดีต


              ดังเช่นเมื่อครั้งอโศกกุมารเถลิงถวัลย์ราชสมบัติเป็นพระธรรมาโศกราช ได้โปรดให้สร้างวิหาร ๘๔,๐๐๐ หลัง พระองค์ทรงปรารถนาจะได้พระบรมธาตุมาประดิษฐานในพระวิหาร ทรงได้ยินข่าวจากภิกษุสงฆ์ว่ามีพระบรมธาตุอยู่ แต่ไม่รู้ว่าถูกเก็บรักษาไว้ที่ไหน พระองค์ทรงรับสั่งให้หาในพระเจดีย์ในกรุงราชคฤห์ แต่ก็ยังไม่พบพระบรมธาตุแต่อย่างใด


               พระองค์ทรงพาพุทธบริษัท ๔ ไปกรุงเวสาลี เพื่อค้นหาพระบรมธาตุ แต่ก็หาไม่พบ เสด็จไปยังกรุงกบิลพัสดุ์ก็ไม่พบเช่นกัน ครั้นเสด็จไปรามคาม พวกนาคไม่ยอมให้รื้อพระเจดีย์ ปรากฏว่า จอบหรืออุปกรณ์ใดๆ ที่ถูกต้องพระเจดีย์ต่างหักเป็นท่อนเล็กท่อนน้อย จึงเสด็จไปเมืองอัลลกัปปะ ปาวา กุสินารา ก็ไม่ได้พระบรมธาตุอีกเช่นกัน จากนั้นทรงเสด็จกลับกรุงราชคฤห์ ทรงประชุมพุทธบริษัท ๔ พลางตรัสถามว่า “ใครเคยได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับสถานที่เก็บพระบรมธาตุบ้าง”


              ในที่ประชุมนั้นพระเถระรูปหนึ่ง อายุ ๑๒๐ ปี กล่าวว่า “เมื่อครั้งที่อาตมาอายุ ๗ ขวบ พระมหาเถระบิดาของอาตมภาพได้พาไปบูชาสถูปหินเป็นประจำ” พระราชาสดับเช่นนั้นทรงรับสั่งให้แผ้วถางบริเวณสถูปหิน เมื่อปัดฝุ่นออกก็ทรงเห็นพื้นโบกปูนอยู่ จากนั้นทรงทำลายปูนโบก และแผ่นอิฐแล้วเสด็จเข้าไปภายใน ได้ทอดพระเนตรเห็นทรายรัตนะ ๗ ประการ และรูปไม้หุ่นยนต์ถือดาบเดินวนเวียนอยู่ พระเจ้าอโศกรับสั่งให้พราหมณ์ผู้มีคาถาอาคมทำพิธีเซ่นสรวง แต่ก็ยังเข้าไปไม่ได้ ต่อเมื่อพระองค์ทรงนมัสการเทวดาเพื่อขอรับพระบรมธาตุไปประดิษฐานไว้ในวิหาร ๘๔,๐๐๐ หลัง และขอเทวดาอย่าทำอันตรายใด ๆ เลย


              ท้าวสักกเทวราชรู้ความตั้งใจมั่นของพระเจ้าอโศกมหาราช ที่จะทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา จึงตรัสสั่งให้วิสสุกรรมเทพบุตรลงไปทำลายหุ่นยนต์ วิสสุกรรมเทพบุตรได้แปลงเป็นเด็กชาวบ้านไว้ผมจุก ยืนถือธนูตรงพระพักตร์ของพระราชา ทูลว่าจะอาสาทำลายหุ่นยนต์ตัวนี้เอง จากนั้นก็จับศรยิงไปที่หุ่นยนต์ทันที ทำให้ทุกอย่างถูกทำลายกระจัดกระจายไปหมด


              พระราชาทรงถือตรากุญแจเข้าไปทอดพระเนตรเห็นแท่งแก้วมณี และเห็นอักษรจารึกว่า “ในอนาคตกาล พระเจ้าแผ่นดินที่ยากจน จะถือเอาแก้วมณีแท่งนี้แล้ว จงทำสักการะพระบรมธาตุทั้งหลาย” พระเจ้าอโศกมหาราชทรงกริ้วว่า ไม่ควรพูดหมิ่นพระราชาเช่นเราว่า เป็นพระเจ้าแผ่นดินผู้ยากจน จึงกระแทกประตูอย่างแรง อันนี้ก็เป็นกุศโลบาย เพราะถ้าพระเจ้าอโศกไม่ทรงกริ้ว ก็จะไม่กระแทกประตู ประตูจะเปิดไม่ออก


              เมื่อประตูเปิดออกได้ พระองค์ได้เสด็จเข้าไปภายใน ประทีปที่จุดไว้เมื่อ ๒๑๘ ปี ก็ยังลุกโพลงอยู่เช่นนั้นด้วยฤทธิ์ของเทวดา ดอกบัวขาบก็เสมือนเพิ่งนำมาวางไว้ในขณะนั้น เครื่องลาดดอกไม้ก็เสมือนเพิ่งนำมาปูลาดไว้ เครื่องหอมก็เสมือนเพิ่งจะบดมาวางไว้ พระราชาทรงหยิบแผ่นทองขึ้นมาอ่านว่า “ต่อไปในอนาคตกาล กุมารพระนามว่า อโศก จักเถลิงถวัลยราชสมบัติ เป็นพระธรรมราชาพระนามว่า อโศก พระองค์จักทรงกระทำพระบรมธาตุเหล่านี้ให้แพร่หลาย” พระองค์ทรงปลื้มพระทัย ตรัสว่า “ท่านผู้เจริญ พระคุณเจ้ามหากัสสปเถระเห็นเราก่อนแล้วว่าเราจะทำเช่นนี้” ทรงยินดีปรีดามาก


               พระเจ้าอโศกทรงนำพระบรมธาตุทั้งหมดออกมา แล้วปิดเรือนพระบรมธาตุไว้ดังเดิม ทรงทำสถานที่ทุกแห่งให้เป็นปกติเช่นเดิม และโปรดให้ประดิษฐานปาสาณเจดีย์ไว้ข้างบน บรรจุพระธาตุไว้ในวิหาร ๘๔,๐๐๐ วิหาร ทรงไหว้พระมหาเถระ แล้วตรัสถามว่า “การที่โยมบริจาคทรัพย์ถึง ๙๖ โกฏิ ให้สร้างวิหารไว้ถึง ๘๔,๐๐๐ วิหาร โยมได้ชื่อว่าเป็นทายาทในพระพุทธศาสนาหรือยัง”


              พระมหาเถระทูลว่า “ถวายพระพร มหาบพิตรยังเป็นคนภายนอกพระศาสนาอยู่ พระองค์เป็นเพียงปัจจยทายก คือผู้ถวายปัจจัยเท่านั้น หากผู้ใดให้บุตรหรือธิดาของตนได้ออกบวช ผู้นั้นจึงจะชื่อว่า เป็นทายาทของพระศาสนา” พระเจ้าอโศกทรงสดับเช่นนั้น ก็ทรงอนุญาตให้พระโอรส และพระธิดาซึ่งมีกุศลจิตศรัทธาอยู่แล้วออกบวช ทำให้พระพุทธศาสนาแผ่ขยายออกไปไกลถึงลังกาทวีป และขยายออกไปทั่วโลก  ยุคนั้นถือว่าเป็นยุคที่พุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมากทีเดียว


              นั่นเป็นเพราะความเลื่อมใสอันไม่มีประมาณในพระรัตนตรัย มาในยุคสมัยนี้ ก็เป็นอีกยุคสมัยหนึ่งที่พวกเราทุกคนกำลังช่วยกันจรรโลงพระพุทธศาสนาให้สืบทอดยาวนานต่อไป ให้เป็นที่พึ่งแก่มวลมนุษยชาติ พวกเราจะเป็นผู้มีส่วนอย่างสำคัญในการที่จะยอยกพระพุทธศาสนา เป็นกัลยาณมิตรให้ชาวโลกได้หันมาประพฤติปฏิบัติธรรม แล้วสันติภาพที่ทุกคนใฝ่ฝันหาก็จะบังเกิดขึ้นในยุคของพวกเรา 


              เพราะฉะนั้น ต่อแต่นี้ไป ให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของตนเองว่า เราคือผู้สืบทอดอายุพระพุทธศาสนา เราคือผู้พิทักษ์รักษาพระพุทธศาสนา และหมั่นประพฤติปฏิบัติธรรมให้เต็มที่ ฝึกฝนใจให้หยุดนิ่งให้เข้าถึงพระธรรมกายภายใน จะได้เป็นพยานยืนยันผลของการเข้าถึงสันติสุขภายใน อีกทั้งเป็นทนายแก้ต่างให้กับพระพุทธศาสนาอีกด้วย


  จากหนังสือธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับสารธรรม ๓ หน้า ๕๐๙-๕๑๖

อ้างอิง.......พระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏฯ (ภาษาไทย)
ล่มที่ ๑๓   หน้า ๔๖๕

วันศุกร์ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2563

สันติภาพโลกเป็นจริงได้

สันติภาพโลกเป็นจริงได้
                  เราได้อัตภาพเป็นมนุษย์ เกิดมาพบพระพุทธศาสนาแล้ว พึงทำกิจในทางพระพุทธศาสนา ด้วยการทำความดี หมั่นให้ทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา เพราะเราไม่สามารถรู้ได้ว่า  จะละโลกนี้ไปเมื่อใด  สังขารร่างกายของเรา ถูกเผาผลาญด้วยไฟคือความแก่ ความเจ็บ และความตายอยู่ทุกวัน  ไม่มีใครที่จะหลีกหนีกฎของไตรลักษณ์ได้  ทุกชีวิตต่างต้องเสื่อมสลายบ่ายหน้าไปสู่ความตาย  

              ดังนั้นจึงไม่ควรประมาทในชีวิต ให้เร่งสั่งสมความดี และฝึกฝนใจให้หยุดนิ่ง เพื่อให้เข้าถึงพระธรรมกาย อันเป็นที่พึ่งที่ระลึกที่แท้จริง ที่ทำให้เรารู้สึกว่าชีวิตของเราปลอดภัย แม้เวลาจะจากโลกนี้ไปก็มีความองอาจ และไปอย่างผู้มีชัยชนะ สมกับผู้มีธรรมะเป็นอาภรณ์

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ขุททกนิกาย ธรรมบทว่า....
    “ ท่านทั้งหลายจงยินดีในความไม่ประมาท จงตามคุ้มครองจิตของตน จงถอนตนขึ้นจากหล่ม เหมือนช้างที่ตกหล่ม ถอนขึ้นจากหล่มได้ฉะนั้น”

            โลกคือหมู่สัตว์   ส่วนมากยังติดอยู่ในหล่มคือกิเลสอาสวะ สำหรับผู้ไม่ได้ฝึกใจให้สะอาดบริสุทธิ์เป็นประจำแต่ละวันยิ่งดูเหมือนว่า จะยิ่งติดหล่มลึกลงไปทุกที พระพุทธองค์ทรงแนะวิธีการถอนตัวขึ้นจากหล่มไว้ว่า จะต้องไม่ประมาท ให้หมั่นพิจารณาให้เห็นถึงทุกข์ และโทษของความประมาทว่าเป็นภัยสำหรับชีวิต เป็นประดุจตอในวัฏฏะที่จะมาขวางเส้นทางการทำความดีของเรา แล้วให้ตามรักษาจิตดวงนี้ รักษาไว้ให้อยู่ในต้นแหล่งแห่งความบริสุทธิ์ คือที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗  ซึ่งเป็นที่ตั้งถาวรของใจ เป็นแหล่งของสติ แหล่งของปัญญา

            การตามรักษาจิต คือไม่ให้ใจคิดไปในเรื่องราวต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องที่เป็นบาปอกุศล ไม่คิดเบียดเบียนปองร้ายผู้อื่น ไม่โลภอยากได้ของเขา และให้มีความเห็นถูกต้องตรงไปตามความเป็นจริง มีความเชื่อในเรื่องกฎแห่งกรรม แล้วทำแต่สิ่งที่ดีๆ มีประโยชน์ หมั่นยกใจตนเองให้สูงขึ้น ด้วยการเจริญสมาธิภาวนาทุกวัน ซึ่งเป็นวิธีการรักษาใจได้ดีที่สุด และถูกต้องร่องรอยตรงตามคำสอนของพระบรมศาสดา ที่จะนำพาชีวิตไปสู่จุดหมายปลายทาง สามารถถอนตนเองขึ้นมาจากหล่ม คือกิเลสอาสวะทั้งหลายได้

           ชีวิตที่บริสุทธิ์บริบูรณ์ เป็นชีวิตอันอุดมที่จะสร้างโลกในอุดมคติให้เกิดขึ้น ซึ่งเราสามารถทำให้เป็นจริงได้ โดยเริ่มต้นจากตัวเรานี่แหละ ให้หมั่นรักษากาย   วาจา  ใจให้สะอาดบริสุทธิ์ ปฏิบัติธรรมให้เข้าถึงธรรมกาย เราจะได้หายสงสัย แล้วจะได้ช่วยกันบอกทุกคนภายในครอบครัว  ผู้ใกล้ชิดเรา ตลอดจนเพื่อนร่วมโลกทุกคน ให้เขารู้จักการทำใจให้หยุดนิ่ง แล้วสิ่งที่ใครๆ คิดว่าเป็นไปไม่ได้ มันจะเป็นไปได้  เราจะมีโอกาสได้เห็นโลกเกิดความสงบสุขร่มเย็น   ในขณะที่เรายังมีชีวิตอยู่

           เหมือนอย่างพระบรมศาสดา สมัยที่ท่านบำเพ็ญบารมีเป็นพระโพธิสัตว์อยู่นั้น พระองค์ได้บังเกิดเป็นโอรสของพระเจ้าพรหมทัตมีพระนามว่า ชนสันธกุมาร  เมื่อทรงเจริญวัยแล้ว ทรงมีความเชี่ยวชาญในศิลปวิทยาทุกอย่าง หลังจากที่พระราชบิดาสวรรคต พระกุมารก็ได้ครองราชสมบัติ พระองค์ทรงเห็นคุณค่าของการเกิดมาเป็นมนุษย์ อีกทั้งปรารถนาจะให้โลกนี้ร่มเย็นเป็นสุข ให้เป็นโลกแห่งสันติภาพ 

            แม้พระองค์จะมีความสามารถในการรบ แต่ก็ไม่ปรารถนาการรบ ทรงปกครองไพร่ฟ้าประชาราษฎร์ด้วยทศพิธราชธรรม พระองค์ทรงรับสั่งให้สร้างโรงทานถึง ๖ แห่ง บริจาคพระราชทรัพย์วันละ ๖ แสน ทรงบำเพ็ญมหาทานบารมีจนเป็นที่เลื่องลือไปทั่วชมพูทวีป และมีรับสั่งให้เปิดประตูเรือนจำ ปลดปล่อยนักโทษให้เป็นอิสรภาพ ทรงทำการสงเคราะห์ชาวโลกด้วยสังคหวัตถุ ๔ คนยากจนเข็ญใจเมื่อมาในอาณาเขตของพระองค์แล้ว จะได้รับการช่วยเหลือทุกคน ทรงมุ่งขจัดทุกข์ บำรุงสุข โดยไม่เลือกที่รักผลักที่ชัง แนะนำให้ทุกคนรักษาศีล ๕ ทำให้พระองค์เป็นศูนย์รวมใจ เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของมหาชน

           ทุกวันขึ้น ๑๕ ค่ำ พระองค์จะสมาทานอุโบสถศีล และเชิญชวนให้มหาชนประพฤติธรรมตามพระองค์ ทรงรับสั่งให้ตีกลองป่าวประกาศให้ชาวพระนครทั้งหมดมาประชุมกันเพื่อฟังธรรม แล้วพระองค์ก็ประทับนั่งเป็นประธานแสดงธรรมให้มหาชนตั้งอยู่ในความไม่ประมาท พร้อมทั้งตรัสถึงเหตุที่ทำให้ไม่ต้องเดือดร้อนใจในภายหลังว่า...

           ไม่ควรปล่อยเวลาให้ผ่านไปโดยสูญเปล่า โดยไม่ได้ทำประโยชน์อะไรเลย เมื่อยังเป็นหนุ่ม ให้เร่งรีบขวนขวายทำการงาน หารายได้ให้กับตนเอง และครอบครัว เพื่อจะได้ไม่เดือดร้อนใจในภายหลัง และให้ซื่อสัตย์สุจริต ไม่คดโกง เพราะจะทำให้ไม่ได้รับความเชื่อถือจากบุคคลอื่น และอย่าไปเบียดเบียนเข่นฆ่าให้ใครเดือดร้อน

          เมื่อเป็นมนุษย์ ได้ชื่อว่าเป็นผู้มีใจสูง ควรมีความอดทน และเมตตาต่อสรรพสัตว์ทุกหมู่เหล่า ให้ยินดีในคู่ครองของตนเอง ไม่เป็นคนแสวงหาความสุขบนความทุกข์ของคนอื่น เพราะสักวันหนึ่ง คนอื่นจะนำความทุกข์กลับคืนมาให้เรา เหมือนกงจักรที่ขว้างออกไป ในที่สุดก็จะย้อนกลับมาหาตัวเรา

          ผู้ฉลาดควรหมั่นให้ทานอยู่เป็นนิตย์  ชีวิตจะได้ไม่ลำบากในภายหลัง อย่าเป็นคนตระหนี่ที่ต้องเดือดร้อนใจในภายหลังว่า สมัยที่ยังมีข้าวน้ำอุดมสมบูรณ์ ไม่เคยให้ทานกับใครเลย ทำให้ต้องมาเป็นคนยากจนเข็ญใจ พึงดำรงตนอยู่ในสถานะของผู้ให้เสมอ และเมื่อได้รับการเลี้ยงดูจากบิดามารดาจนเติบใหญ่แล้ว ควรหาโอกาสตอบแทนท่าน ให้มีความกตัญญูกตเวที อยู่ในโอวาทของท่าน สมกับเป็นอภิชาตบุตร

         นอกจากนี้ พระราชายังทรงแนะนำให้มหาชนรู้จักเข้าหาสมณพราหมณ์ผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ เพราะท่านจะได้ชี้หนทางสวรรค์ และพระนิพพานให้กับเรา ให้หาโอกาสเข้าไปสนทนาธรรมกับท่านผู้ทรงศีล จะได้นั่งใกล้พระรัตนตรัย อันจะเป็นเหตุให้มีภูมิธรรมภูมิปัญญาสูงยิ่งๆ ขึ้นไป

         เมื่อพระโพธิสัตว์เห็นว่า ธรรมะอะไรที่จะอำนวยประโยชน์ให้กับชาวโลกได้ ท่านจะนำมาแสดงให้มหาชนฟังทุกๆ กึ่งเดือน มหาชนตั้งอยู่ในโอวาทของท่าน บ้านเมืองในยุคสมัยนั้น จึงอยู่เย็นเป็นสุข ต่างคนต่างก็ขวนขวายทำความดี  โจรผู้ร้ายก็ไม่มี ทุกคนอยู่ร่วมกันด้วยสันติ ไม่มีการกระทบกระทั่งหรือทะเลาะเบาะแว้งกัน เมื่อละโลกไปแล้ว ได้ไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์

        นักปราชญ์บัณฑิตในสมัยก่อน เขาฉลาดในการดำเนินชีวิต เมื่อได้เป็นผู้นำ ก็มุ่งนำมหาชนให้ดำเนินชีวิตอย่างมีคุณค่า ให้เห็นประโยชน์ของการสั่งสมบุญว่าประเสริฐกว่าการได้ทรัพย์สินเงินทอง การแก่งแย่งชิงดีกัน ให้เห็นประโยชน์สุขของส่วนรวมมากกว่าความสุขส่วนตัว จะแนะนำไม่ให้ประมาทในชีวิต ให้เห็นคุณค่าของการได้อัตภาพเป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีที่สุดสำหรับการสร้างบารมี เมื่อทุกคนมีจิตสำนึกเหล่านี้เกิดขึ้น จะเป็นพลังหมู่ เกิดกระแสแห่งการทำความดีร่วมกันขึ้น จะมีชีวิตอยู่บนพื้นฐานของความเมตตาปรารถนาดีต่อกัน สันติสุขจะแผ่ขยายออกไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

       ความปรารถนาให้โลกเกิดสันติสุขนี้ มีมาทุกยุคทุกสมัย พระบรมโพธิสัตว์ท่านสร้างบารมีก็เพื่อหวังจะให้โลกเกิดสันติสุขอันไพบูลย์ เกิดสันติภาพที่แท้จริง ซึ่งเป็นสิ่งที่มนุษยชาติใฝ่ฝัน เป็นความปรารถนาร่วมกันมายาวนาน แต่สันติภาพที่แท้จริงของโลกจะเกิดขึ้นได้ มีวิธีเดียวเท่านั้น คือต้องเข้าให้ถึงสันติสุขภายใน เข้าถึงพระธรรมกายในตัว ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของความสุข และความบริสุทธิ์ที่แท้จริง

จากหนังสือธรรมะเพื่อประชาชน  ฉบับสารธรรม ๑ หน้า ๔๐๗-๔๑๔

อ้างอิง.......พระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏฯ

(ภาษาไทย) เล่มที่ ๖๐   หน้า ๑๖๒


วันพฤหัสบดีที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2563

ออกแบบชีวิตด้วยตนเอง (๒)

ออกแบบชีวิตด้วยตนเอง (๒)

                     การเดินทางไกลในวัฏสงสารของมนุษย์ และสรรพสัตว์ทั้งหลาย เพื่อมุ่งไปสู่ที่สุดแห่งธรรม ไม่ใช่ทำกันลำพังเพียงคนสองคน แต่จะต้องสร้างบารมีกันเป็นทีมใหญ่ ต้องประสานใจทุกดวงให้เป็นหนึ่งเดียวกัน และประสานงานกันอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการทำงานเป็นทีมนั้น สมาชิกทุกคนในทีม จะต้องเป็นกัลยาณมิตรให้กับตนเองและเพื่อนร่วมทีมด้วย เพื่อช่วยกันประคับประคองไปให้ถึงจุดหมายปลายทาง อีกทั้งต้องอาศัยกำลังใจที่เข้มแข็งมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยว ต้องทุ่มเทสร้างบารมีชนิดเอาชีวิตเป็นเดิมพัน จึงจะไปถึงที่หมายได้อย่างปลอดภัยและมีชัยชนะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกำลังใจภายในที่เกิดจากใจหยุดนิ่งจนเข้าถึงพระรัตนตรัยภายในนั้น เป็นสิ่งที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใด

                  มีธรรมภาษิตที่เทวดากล่าวต่อเบื้องพระพักตร์ของพระบรมศาสดาว่า...
                 “คนตระหนี่กลัวภัยใดย่อมให้ทานไม่ได้ ภัยนั้นนั่นแล ย่อมมีแก่คนตระหนี่ผู้ไม่ให้ทาน คนตระหนี่ย่อมกลัวความหิวและความกระหายใด ความหิวและความกระหายนั้น ย่อมถูกต้องคนตระหนี่นั้น ผู้เป็นพาลทั้งในโลกนี้และในโลกหน้า เพราะฉะนั้น บุคคลควรกำจัดความตระหนี่อันเป็นสนิมในใจ  แล้วให้ทานเถิด เพราะบุญทั้งหลายย่อมเป็นที่พึ่งของสรรพสัตว์ในปรโลก”

                   มนุษย์ทุกคนต่างบอกว่า รักตัวเองมากที่สุด สมดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า  ความรักเสมอด้วยตนไม่มี ส่วนจะรักแบบไหน รักเพียงชาตินี้หรือรักข้ามชาติ ก็ต้องมาพิจารณาที่การกระทำ หากรักตัวเองอย่างแท้จริง เขาจะกลัวความตระหนี่เป็นชีวิตจิตใจ เพราะรู้ว่าความตระหนี่เป็นภัยในวัฏฏะ กลัวจะลำบากยากจน ไม่อยากเป็นมหาทุคตะข้ามชาติ จึงรีบขจัดความตระหนี่ ซึ่งเปรียบเสมือนสนิมในใจออกไปโดยเร็ว

                   คนมีบุญจะสอนตัวเองไม่ให้ตระหนี่      เพราะคนตระหนี่ไปเทวโลกไม่ได้ จะไปได้ต้องย่ำยีความตระหนี่ให้หลุดจากใจก่อน ด้วยการหมั่นทำบุญให้ทานสม่ำเสมอ ซึ่งแตกต่างจากผู้ไม่รู้ ที่กลัวอดอยากยากจนจึงไม่ให้ทาน มีความตระหนี่อย่างเหนียวแน่น เพราะเขาไม่รู้ว่า ความตระหนี่คือการทำร้ายตัวเอง ไม่ใช่รักตัวเอง บัณฑิตกับคนพาลมองต่างมุม เข้าใจตรงกันข้ามอย่างนี้แหละ ดังนั้น ชีวิตในปรโลกของบัณฑิต จึงมีแต่สุคติโลกสวรรค์เป็นที่ไป

                  ดังเรื่องของพระโพธิสัตว์ ซึ่งสมัยหนึ่งเกิดเป็นคนยากจน แต่หลังจากสลัดความตระหนี่ออกจากใจ ด้วยการถวายขนมกุมมาสแด่พระปัจเจกพุทธเจ้า ครั้นละโลกก็ได้มาเกิดเป็นพระเจ้าพรหมทัต ได้ครองราชย์ในกรุงพาราณสี ที่เป็นเช่นนี้ เพราะท่านรู้จักออกแบบชีวิตให้กับตนเอง ไม่ยอมจนอีกต่อไป แต่การจะข้ามความจนไปได้ ก็ต้องกล้าเป็นผู้ให้ก่อน บุญจึงส่งผลให้ท่านได้เป็นพระราชาผู้มีสมบัติมากมาย

                  เรื่องของพระองค์ยังมีต่อ เมื่อได้เป็นพระราชาแล้ว ทรงไม่ประมาท และด้วยความที่ระลึกชาติที่ผ่านมาได้ จึงทรงแต่งเป็นเพลงไว้ขับร้อง เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจว่า “การปรนนิบัติพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย มีผลหาน้อยไม่ เชิญดูผลของการถวายก้อนขนมกุมมาสที่แห้งและมีรสจืดชืดเถิด โปรดดูผลแห่งการถวายก้อนขนมกุมมาสที่เป็นเหตุให้เรามีช้าง โค ม้า ทรัพย์ และข้าวเปลือกมากมาย และนางสนมนารีเหล่านี้ ที่เปรียบด้วยนางอัปสร เชิญดูผลของการถวายก้อนขนมกุมมาสเถิด”

                 ตั้งแต่นั้นมา เหล่าหญิงฟ้อนของพระโพธิสัตว์ และชาวเมืองทั้งหลายต่างพากันร้องเพลงนี้ ซึ่งเป็นเพลงที่นิยมกันมากที่สุด เพราะถือว่า เป็นเพลงที่พระราชาทรงโปรดปราน ฝ่ายอัครมเหสีของพระราชาอยากรู้ที่มาของเนื้อเพลง จึงทูลถามถึงแรงบันดาลใจในการเขียนเพลงบทนี้

                พระราชาทรงเห็นว่า เป็นโอกาสดีที่จะให้มหาชนรับรู้ ถึงอานิสงส์ของการให้ทาน จึงให้ตีกลองป่าวร้องไปทั่วเมืองว่า ให้มารับฟังแรงบันดาลใจในการแต่งเพลงบทนี้ ทรงให้สร้างรัตนบัลลังก์ที่พระลานหลวง พระเทวีทรงประดับประดาด้วยเครื่องประดับทุกอย่าง ทูลถามพระราชาเป็นครั้งที่สองว่า “ข้าแต่เสด็จพี่ ขอเสด็จพี่โปรดตรัสบอกเนื้อร้องของเพลงมงคล ที่เสด็จพี่ปลื้มพระทัยนี้ด้วยเถิด”

                  พระโพธิสัตว์ทรงไขปริศนาเพลงมงคล ด้วยการเล่าเรื่องของพระองค์ในอดีตตั้งแต่ครั้งเป็นหนุ่มยากจน แล้วได้มาเกิดเป็นพระราชาก็เพราะได้ถวายขนมกุมมาสแด่พระปัจเจกพุทธเจ้า ๔ พระองค์ ด้วยอานิสงส์แห่งการสลัดความตระหนี่ในครั้งนั้น ทำให้พระองค์ได้เป็นเจ้าของสมบัติทั่วทั้งแผ่นดินเช่นนี้

                   พระเทวีทรงสดับแล้ว มีพระทัยเลื่อมใสยิ่งนัก เนื่องจากเป็นหญิงมีปัญญา จึงทูลว่า “ข้าแต่มหาราช หากพระองค์ทรงตระหนักถึงอานิสงส์ของการให้ทานเช่นนี้แล้ว ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ขอพระองค์ทรงถวายทานแด่สมณพราหมณ์ผู้ทรงธรรมก่อน แล้วจึงเสวยในภายหลัง ขอพระองค์อย่าทรงประมาท ทรงหมุนล้อคือพระธรรมเถิด ข้าแต่มหาราชผู้ทรงเป็นอธิบดีในกุศลธรรม ขอพระองค์อย่าได้ทรงดำรงอยู่ในอธรรม โปรดรักษาทศพิธราชธรรมไว้เถิด”

                    ทศพิธราชธรรม ๑๐ ประการ ได้แก่ ทาน ศีล การบริจาค ความซื่อตรง  ความอ่อนโยน   ตบะคือความเพียร   ความไม่โกรธ   ความไม่เบียดเบียน  ความอดทนและความไม่ประพฤติผิดพลาด พระโพธิสัตว์ทรงเห็นว่าเป็นข้อแนะนำที่ดี จึงตั้งใจประพฤติธรรมบำเพ็ญทศพิธราชธรรม

         นอกจากนี้ทรงตรวจดูสิริลักษณะของพระเทวี พลางตรัสถามว่า “ดูก่อนน้องนางผู้เจริญ ในท่ามกลางหญิงเหล่านี้ ไม่มีหญิงแม้แต่คนเดียวที่โดดเด่นเสมอเหมือนกับเธอ เธอสง่างามราวกับนางอัปสร ผู้งดงามท่ามกลางหมู่เทพนารี เป็นสตรีผู้มีบุญลักษณะ เธอทำบุญอะไรไว้ จึงได้สิริสมบัตินี้มาครอบครอง”

                    เนื่องจากพระราชเทวีเป็นหญิงคู่บุญที่ระลึกชาติได้เช่นเดียวกับพระราชา พระนางจึงได้ทูลเล่าว่า ชาติที่แล้วได้เกิดเป็นหญิงรับใช้ของเศรษฐี เป็นผู้สำรวมระวัง เลี้ยงชีพโดยชอบธรรม มีศีล ไม่ทำบาปทั้งในที่ลับและเปิดเผย นางเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้ากำลังเดินไปบิณฑบาตผ่านหน้าบ้าน ทั้งๆ ที่ตัวเองหิวกระหายเพราะทำงานหนัก เพิ่งจะได้รับอาหารที่เจ้านายแบ่งมาให้เพียงเล็กน้อย แต่เพราะมีจิตเลื่อมใสอยากถวายทาน จึงตัดใจถวายอาหารส่วนนั้นแด่พระปัจเจกพุทธเจ้า เพราะผลแห่งกรรมนั้น จึงทำให้นางได้มาเป็นอัครมเหสี ผู้เลิศกว่าหญิงใดในผืนปฐพีนี้

                     ครั้นพระราชาและพระมเหสี ตรัสเล่าบุพกรรมของตนโดยพิสดาร ให้กับมหาชนได้รับฟังเช่นนั้นแล้ว ต่างมีจิตเป็นกุศลเช่นเดียวกันว่า ต้องเอาบุญต่อบุญ เอาสมบัติต่อสมบัติ จะได้ไม่ต้องไปเกิดเป็นคนยากจนเข็ญใจอีก ซึ่งจะเป็นเช่นนั้นได้ ก็ต้องเริ่มต้นด้วยการให้ทาน จากนั้นทั้งสองพระองค์มีจิตเป็นสมานฉันท์ ทรงให้สร้างศาลา ๖ แห่ง คือ ที่ประตูเมืองทั้ง ๔ แห่ง ที่ใจกลางเมือง ๑ แห่ง และที่ประตูพระราชวังอีก ๑ แห่ง ทรงบริจาคทานจนตลอดชีวิต ทรงรักษาศีล เมื่อถึงวันพระก็ทรงรักษาอุโบสถศีล ดำรงตนเป็นต้นบุญต้นแบบของมหาชน ครั้นละโลกแล้วก็ได้ไปเสวยสุขในสวรรค์

                    เราจะเห็นว่า ชีวิตของผู้ที่รักตัวเอง กลัวความลำบากยากจนนั้น เขาจะไม่ยอมให้ความตระหนี่มามีอิทธิพลเหนือจิตใจ จะไม่หวงแหนเสียดายทรัพย์ของตน ยิ่งมีมากก็ยิ่งให้มาก ให้แล้วก็อยากให้อีก และไม่เคยอิ่มในการให้ทานเลย เหมือนทะเลไม่อิ่มด้วยน้ำ เพราะยิ่งให้ก็ยิ่งได้ หวงคือไล่ ให้คือเรียก นี่คือคนที่รักตัวเองอย่างแท้จริง และได้ออกแบบชีวิตของตนเป็นอย่างดี ทุกครั้งที่ทำบุญ ก็ทำด้วยจิตที่เลื่อมใสศรัทธาจริงๆ เป็นการทำอย่างเต็มกำลัง  ทำอย่างสุดหัวใจ  และต้องรู้จักอธิษฐานเป็นการตั้งผังสำเร็จไว้ด้วย

                        เพราะฉะนั้น ถ้าเรารักตัวเอง ไม่ต้องรอให้ใครมาชักชวน ให้ลงมือทำไปเลย เมื่อถึงคราวที่สมบัติใหญ่เกิดขึ้น ก็จะเป็นสมบัติอัศจรรย์ที่ไม่เป็นสองรองใคร นี่เป็นการวางแผนผังชีวิตการสร้างบารมี เพื่อไปให้ถึงที่สุดแห่งธรรม ที่ควรตระหนักให้ดีกันทุกคน
                  
จากหนังสือธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับสารธรรม ๒ หน้า ๖๕-๗๓

อ้างอิง.......พระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏฯ (ภาษาไทย)
ล่มที่ ๕๙   หน้า ๔๒๐


วันพุธที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2563

ออกแบบชีวิตด้วยตนเอง (๑)

ออกแบบชีวิตด้วยตนเอง (๑)



                    ความสุขที่เกิดจากการฝึกฝนอบรมใจ ให้บริสุทธิ์หยุดนิ่ง เป็นนิรามิสสุข สุขที่ไม่ต้องอิงวัตถุ เป็นสิ่งที่ชาวโลกต่างแสวงหากันมายาวนาน เพราะเป็นความสุขที่เสรี เป็นอิสระในตัวเอง แต่น้อยคนนักที่จะสมปรารถนา เพราะไม่รู้วิธีปฏิบัติ เมื่อปฏิบัติไม่ถูกวิธีก็เข้าไม่ถึง เมื่อเข้าไม่ถึงก็แสวงหาความสุขจากสิ่งอื่นมาทดแทน ที่เรียกว่า สามิสสุข เป็นความสุขที่ต้องอิงวัตถุภายนอก คือ เบญจกามคุณ เป็นความสุขที่ไม่เที่ยงแท้ ไม่เป็นอิสระในตัวเอง เป็นความสุขที่คับแคบ มีขอบเขตจำกัด เมื่อแสวงหาสิ่งนี้มาได้แล้ว ก็แสวงหาสิ่งอื่นๆ เรื่อยไปไม่รู้จักพอ ความพอดีและพอใจจะเกิดขึ้นได้ ต่อเมื่อใจหยุดเท่านั้น ใจหยุดนำมาซึ่งความสุขและความสำเร็จ หยุดเป็นตัวสำเร็จ หยุดเป็นทุกสิ่ง ที่เราต้องฝึกฝนทุกวัน เพื่อจะได้เข้าถึงความสุขที่เที่ยงแท้กันทุกคน

มีธรรมภาษิต ที่เทวดากล่าวต่อเบื้องพระพักตร์ของพระบรมศาสดาว่า..... “ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ทานยังประโยชน์ให้สำเร็จได้ แม้ว่าของที่ให้จะมีอยู่น้อยก็ตาม ทานก็ยังประโยชน์ให้สำเร็จได้ อนึ่ง ทานที่ให้ด้วยศรัทธาก็ยังประโยชน์ให้สำเร็จได้ นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวว่า ทานและการรบมีผลเสมอกัน พวกวีรบุรุษแม้มีน้อย ย่อมชนะคนขลาดที่มีพรรคพวกมากได้ ถ้าบุคคลเชื่อกรรมและผลของกรรมอยู่ ย่อมให้สิ่งของแม้น้อยได้ เพราะฉะนั้นแล ทายกนั้นย่อมเป็นผู้มีความสุขในโลกหน้า”

     ทานที่ให้ไว้ดีแล้ว ด้วยจิตที่เลื่อมใสในท่านผู้มีความบริสุทธิ์ มีธรรมกายเป็นทักขิไณยบุคคล ย่อมทำความปรารถนาของบุคคลนั้นให้สำเร็จประโยชน์อย่างเป็นอัศจรรย์ ทานยังมีอานุภาพ เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของบุคคลผู้ให้ทาน ให้พลิกผันชีวิตจากมหาทุคตะ คือ บุคคลที่ยากจนที่สุดในโลก กลายมาเป็นมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดในโลกได้ จากบุคคลที่อดอยากไม่มีอะไรจะกิน กลายมาเป็นมหาเศรษฐีผู้มีสมบัติเหลือกินเหลือใช้ ได้สมบัติจักรพรรดิตักไม่พร่องก็ได้

    การจะวัดว่าบุคคลใดให้มากให้น้อย มีศรัทธามากหรือน้อยกว่ากัน เขาไม่ได้วัดกันเพียงปริมาณของวัตถุที่บริจาค แต่วัดกันตรงที่บุคคลนั้นสามารถขจัดความตระหนี่ออกจากใจได้มากน้อยเพียงใด ทานที่ให้ไปแล้วนั้น เป็นการให้ตามกำลังหรือเต็มกำลัง ความตระหนี่ได้หลุดล่อนออกจากใจมากน้อยแค่ไหน ถ้าขจัดความตระหนี่ได้มาก กุศลกรรมก็ได้ช่องมาก สามารถดึงดูดสมบัติอัศจรรย์ ทันใช้สร้างบารมีในชาตินี้กันเลยทีเดียว

   มีตัวอย่างมากมายที่ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎก ถึงผลแห่งการให้ทานว่า สามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตผู้คนได้อย่างเป็นอัศจรรย์ ทั้งในภพนี้และภพหน้า โดยเฉพาะพระบรมโพธิสัตว์ ท่านทรงประพฤติตนบนเส้นทางของการเป็นผู้ให้ ที่เราควรศึกษาและนำมาเป็นต้นแบบ เพราะไม่ว่าท่านจะเกิดเป็นพระราชามหากษัตริย์ เป็นเศรษฐีหรือเป็นคฤหบดี ท่านก็ให้ทานเสมอมา ท่านถือคติว่า แม่น้ำทุกสายย่อมไม่ดื่มกินน้ำของตัวเอง แต่กลับเป็นประโยชน์ใหญ่ต่อชาวโลก และสรรพสัตว์ทั้งหลาย ให้ได้อาบดื่มกิน ให้ความชุ่มฉ่ำแก่พื้นดิน ต้นไม้ที่มีผลดกย่อมไม่กินผลของตนเอง แต่มีไว้เพื่อแจกจ่ายแก่สัตว์ทั้งปวงที่เข้ามาอาศัยร่มเงา ทรัพย์ที่ตัวท่านมีก็เช่นเดียวกัน นอกจากมีไว้ใช้หล่อเลี้ยงตนเองและครอบครัวแล้ว ส่วนหนึ่งท่านจะต้องสละออกไป เพื่อให้เป็นประโยชน์ใหญ่แก่ชาวโลก ด้วยท่านปรารถนาให้โลกนี้เกิดสันติสุขอันไพบูลย์

      แม้ในบางชาติ ท่านเกิดเป็นคนขัดสนทรัพย์ แต่ก็ไม่ขัดสนน้ำใจ  ยอมอดอาหารมื้อนั้น เพื่อจะได้ให้ทานแก่เนื้อนาบุญที่มายืนอยู่ตรงหน้า ท่านเป็นตัวอย่างนักรบในการรบกับความตระหนี่ได้ดีที่สุด และได้ชัยชนะตลอดมา ท่านได้ย่ำยีความตระหนี่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทำให้ท่านได้สมบัติจักรพรรดิตักไม่พร่อง ทานแม้เล็กน้อยที่ท่านได้ถวายด้วยจิตที่เลื่อมใส กลับมีอานุภาพพลิกผันชีวิตจากคนเข็ญใจ ที่มีบ้านพอได้หลับนอน กลายมาเป็นทิพยปราสาท ที่ใหญ่โตมโหฬารในภพชาติต่อไป และผลทานยังเกิดเป็นผังรวยถาวรข้ามชาติ ไม่ต้องเกิดมาเป็นคนยากจนเข็ญใจอีก

      สมัยหนึ่ง พระพุทธองค์ทรงเล่าเรื่องในอดีตว่า พระพุทธองค์ก็เคยเกิดเป็นคนยากจนเช่นกัน แต่ได้พลิกผันชีวิตด้วยการทำบุญให้ทาน เรื่องมีอยู่ว่า...
      ในสมัยที่พระโพธิสัตว์เกิดเป็นคนยากจน เนื่องจากเกิดในชนชั้นล่าง จึงทำให้อดอยากลำบากมากในวัยเด็ก ครั้นเติบใหญ่ได้เข้าไปขอทำงานรับจ้างกับเศรษฐีคนหนึ่ง เพื่อให้ได้อาหารพอประทังชีวิตในแต่ละวัน 

      วันหนึ่ง มาณพผู้ขัดสนทรัพย์ได้รับเงินค่าจ้าง ก็นำไปซื้อขนมกุมมาสเพื่อเป็นอาหารเช้าของตน ขณะเดินถือขนมมา ท่านเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ๔ พระองค์ กำลังเสด็จบิณฑบาต จึงคิดสอนตัวเองว่า พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านี้ เป็นเนื้อนาบุญอันเลิศที่เราควรทำบุญกับท่าน เหตุที่เราต้องอดมื้อกินมื้อ อัตคัตขัดสนจนทรัพย์อยู่ในปัจจุบัน ก็เพราะความตระหนี่ ไม่ยอมให้ทานในปางก่อน อย่ากระนั้นเลย ขณะนี้เนื้อนาบุญมาอยู่ตรงหน้าเราแล้ว ศรัทธาของเราก็มีอยู่ แม้ไทยธรรมคือขนมกุมมาส ๔ ก้อนนี้เล่า ก็มีพร้อมแล้ว เราควรรีบชิงช่วงถวายทานแด่ท่าน ก่อนจะถูกความตระหนี่ช่วงชิงให้พลาดโอกาสบุญไปอีก

       เมื่อสอนตัวเองได้เช่นนี้แล้ว แม้จะต้องอดข้าวเช้าไปหนึ่งมื้อ แต่ท่านรู้สึกปีติใจ ที่จะได้ทำบุญกับพระปัจเจกพุทธเจ้า จึงเข้าไปนิมนต์พระปัจเจกพุทธเจ้าให้ประทับนั่ง พลางกราบเรียนท่านว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์มีขนมกุมมาสในมือ ๔ ก้อน ข้าพระองค์ขอถวายขนมเหล่านี้แด่พระคุณเจ้าทั้งหลาย” จากนั้นท่านก็วางขนมกุมมาส ๔ ก้อน ลงในบาตรทั้ง ๔ ใบ

     พระปัจเจกพุทธเจ้าฉันภัตตาหารแล้ว พระโพธิสัตว์ขอพรว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ด้วยผลแห่งการถวายขนมกุมมาส ขึ้นชื่อว่าการเกิดเป็นลูกคนจน ขอจงอย่าได้มีแก่ข้าพเจ้าเลย ขอให้การถวายทานครั้งนี้ จงเป็นปัจจัยแห่งการบรรลุพระสัพพัญญุตญาณด้วยเถิด”  พระปัจเจกพุทธเจ้าทรงทำอนุโมทนา อวยพรให้หนุ่มผู้ยากไร้ได้สมปรารถนา จากนั้นทรงเหาะไปสู่เงื้อมเขานันทมูลกะ

พระโพธิสัตว์ประคองอัญชลี แล้วยึดเอาปีติที่มีต่อพระปัจเจกพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ ครั้นละโลกไปแล้ว ท่านได้ถือกำเนิดในพระครรภ์ของพระอัครมเหสีแห่งพระเจ้าพาราณสี พระประยูรญาติได้ถวายพระนามว่า พรหมทัตกุมาร

    พระกุมารทรงระลึกชาติได้ เหมือนเห็นเงาหน้าตนเองในกระจกใส พระองค์จึงเป็นผู้ไม่ประมาท เมื่อเจริญวัยทรงศึกษาศิลปวิทยาทุกอย่าง และได้พระธิดาของพระเจ้าโกศลเป็นอัครมเหสี ครั้นพระบิดาสวรรคต พระกุมารได้เสวยราชสมบัติครองราชย์ทั้งสองเมือง คือ เมืองพาราณสีและเมืองโกศล

      ในวันฉัตรมงคล มหาชนต่างพากันตกแต่งบ้านเมืองให้เหมือนเทพนคร  เมื่อพระราชาเสด็จตรวจตราดูบ้านเมืองแล้ว ทรงเสด็จขึ้นพระราชบัลลังก์ ได้ทอดพระเนตรพสกนิกรที่พากันยืนเฝ้า ด้านหนึ่งเป็นอำมาตย์ อีกด้านหนึ่งเป็นคฤหบดี มีพราหมณ์คฤหบดีผู้มีสมบัติมากมายคอยห้อมล้อม อีกทั้งที่มือก็ถือเครื่องบรรณาการนานาชนิด ส่วนอีกด้านหนึ่งเป็นคณะหญิงฟ้อนรำจำนวน ๑๖,๐๐๐ นาง ปานประหนึ่งเทพอัปสร พระองค์ทรงรู้ซึ้งถึงความมหัศจรรย์แห่งบุญ ที่ตนได้ทำไว้ในชาติที่ผ่านมา

    จากเรื่องนี้จะเห็นว่า พระโพธิสัตว์ทรงเป็นตัวอย่าง ในการออกแบบชีวิตของตนเองว่า จะให้ชีวิตในสังสารวัฏดำเนินไปในทิศทางใด อนาคตจะเป็นอย่างไรย่อมขึ้นอยู่กับการกระทำในปัจจุบัน ในเมื่อเราเชื่อว่า ชีวิตหลัง ความตายไม่ได้สูญ ชาตินี้จึงถือเป็นโอกาสทอง ที่เราจะต้องออกแบบชีวิตของตน ให้เป็นชีวิตที่สูงส่งด้วยบุญบารมียิ่งขึ้นไป จะได้ช่วยทั้งตนเองและสรรพสัตว์ ให้รอดพ้นจากทุกข์ภัยในสังสารวัฏ เช่นเดียวกับพระบรมโพธิสัตว์ทั้งหลายในกาลก่อน เรื่องของพระโพธิสัตว์ยังไม่จบเพียงเท่านี้ ครั้งต่อไป เราจะมาติดตามศึกษากันต่อ



จากหนังสือธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับสารธรรม ๒ หน้า ๕๖-๖๔

อ้างอิง.......พระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏฯ (ภาษาไทย)
ล่มที่ ๕๙   หน้า ๔๒๐

ศาสดาเอกของโลก (๑)

ศาสดาเอกของโลก   (๑)                  พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ผู้บริสุทธิ์หลุดพ้นแล้วจากกิเลสอาสวะ กิจที่จะทำยิ่...